เศรษฐกิจไทยในไตรมาสสามปี 2551 ขยายตัวร้อยละ 4.0 ชะลอลงต่อเนื่องจากร้อยละ 6.0 ในไตรมาสแรก และร้อยละ 5.3 ในไตรมาสสอง จากอุปสงค์ภายในประเทศและการส่งออกชะลอลง รวมสามไตรมาสเศรษฐกิจ ขยายตัวร้อยละ 5.1 ซึ่งนับว่าภาพรวมยังอยู่ในเกณฑ์ดีและจะช่วยรองรับแรงกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลก ซบเซาในระยะต่อไป
ภาพรวมเศรษฐกิจยังมีเสถียรภาพโดยที่แรงกดดันเงินเฟ้อลดลงตามภาวะราคาน้ำมันและราคาสินค้าโภค ภัณฑ์ที่ลดลง แต่ดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล ในไตรมาสสามอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเท่ากับร้อยละ 7.3 โดยที่เงินเฟ้อรายเดือนลดลงจากร้อยละ 9.2 ในเดือนกรกฎาคมเป็นร้อยละ 6.4 และ 6.0 ในเดือนสิงหาคมและ กันยายน และในเดือนตุลาคมเงินเฟ้อลดลงเป็นร้อยละ 3.9 แต่ทั้งดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล ซึ่งเป็นผล จากที่การส่งออกชะลอตัวแต่การนำเข้ายังเร่งตัวขึ้น และรายได้จากการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบจากปัญหาความไม่ สงบในประเทศและปัญหาเศรษฐกิจโลก ประกอบกับไตรมาสสามอยู่นอกฤดูกาลท่องเที่ยว สำหรับอัตราการว่างงาน เฉลี่ยยังต่ำเท่ากับร้อยละ 1.2
อัตราดอกเบี้ยนโยบายปรับตัวสูงขึ้น และอัตราเงินเฟ้อที่ลดลงในช่วงปลายไตรมาสมีผลให้อัตราดอกเบี้ย แท้จริงเพิ่มขึ้นแม้จะยังเป็นอัตราที่เป็นลบ สินเชื่อเร่งตัวมากขึ้น ในขณะที่เงินฝากยังลดลงต่อเนื่อง ทำให้ สภาพคล่องในระบบสถาบันการเงินเริ่มมีสัญญาณตึงตัว ค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ สรอ. อ่อนค่าลง ต่อเนื่องตั้งแต่กลางเดือนเมษายน ดัชนีราคาตลาดหลักทรัพย์โดยเฉลี่ยลดลงมากและมีความผันผวนเป็นช่วง ๆ ตาม การเคลื่อนย้ายเงินทุนออกสุทธิของนักลงทุนต่างชาติในภาวะที่ผลกระทบจากปัญหาหนี้ด้อยคุณภาพได้นำไปสู่วิกฤต ทางการเงินที่แผ่เป็นวงกว้างมากขึ้น
ฐานะการคลังขาดดุลงบประมาณแต่เกินดุลเงินสดต่อเนื่องจากไตรมาสที่แล้วของปีงบประมาณ 2551 โดยที่ มีรายได้นำส่งคลังเพิ่มขึ้นมากแต่รายจ่ายเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือนกันยายน 2551 มี จำนวน 3.41 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.0 เมื่อเทียบกับยอดหนี้คงค้าง ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2551
คาดว่าเศรษฐกิจไทยยังมีแนวโน้มชะลอตัวในไตรมาสสุดท้ายของปี 2551 เนื่องจากผลกระทบของเศรษฐกิจ โลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงมากจะมีผลให้การส่งออกชะลอลงชัดเจน รวมทั้งปี 2551 เศรษฐกิจไทยมี แนวโน้มขยายตัวร้อยละ 4.5 เทียบกับร้อยละ 4.8 ในปี 2550 อัตราเงินเฟ้อเท่ากับร้อยละ 5.6 อัตราการ ว่างงานเฉลี่ยทรงตัวที่ร้อยละ 1.4 และดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลประมาณ 300 ล้านดอลลาร์ สรอ.เทียบกับที่ เกินดุล 14,049 ล้านดอลลาร์ สรอ. ในปี 2550ในปี 2552 คาดว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มชะลอตัวลง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจการเงิน โลกชะลอตัวอย่างชัดเจนมากขึ้น และทำให้การส่งออกชะลอตัวมาก ในขณะที่การใช้จ่ายและการลงทุนในประเทศ ยังขยายตัวต่ำ จึงคาดว่าโดยรวมเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวร้อยละ 3.0-4.0 อัตราเงินเฟ้อเท่ากับร้อยละ 2.5-3.5 และดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลร้อยละ 1.2 ของ GDP
การบริหารเศรษฐกิจในปี 2552 เน้นการกระตุ้นและสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจภายในประเทศนำ โดยใช้ งบประมาณรายจ่ายรัฐบาลและการดำเนินโครงการภาครัฐ และดำเนินมาตรการเพื่อดูแลผลกระทบต่อภาคส่วนต่าง ๆ ได้แก่ การดูแลแรงงานผู้ถูกเลิกจ้างงาน ให้มีสวัสดิการรองรับที่เหมาะสมและได้รับการฝึกอบรมเพื่อเพิ่มทักษะและ จัดหางานใหม่ การดูแลสาขาการผลิตและบริการที่อาจได้รับผลกระทบรุนแรง เช่น การท่องเที่ยว การส่งออก อสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น และวางกลไกช่วยเหลือเกษตรกร ซึ่งเผชิญราคาผลผลิตลดลงให้สามารถวางแผนการผลิต และได้รับผลตอบแทนที่เหมาะสม รวมทั้งการดูแลด้านสภาพคล่องให้มีเพียงพอ
ที่มา : หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 2376 ประจำวันที่ 24 พฤศจิกายน 2551
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น